"เข้าป่า-กางเต็นท์" เสี่ยงป่วย "ไข้รากสาดใหญ่"



กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวเข้าป่ากางเต็นท์สัมผัสอากาศหนาว ระวังถูกตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิน รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศกลับมาหนาวเย็นอีกครั้ง ทำให้อุณภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ว่าทางตอนบนของประเทศจะมีอากาศหนาวเย็น กับมีลมแรง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง และป่าไม้ จึงขอเตือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางรับลมหนาวและกางเต็นท์นอนในป่า ระวังถูก “ตัวไรอ่อน” กัดได้ ทำให้เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 445 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ (จำนวน 227 คน คิดเป็นร้อยละ 51) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระนอง น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ


โรคไข้รากสาดใหญ่ คืออะไร ?

“โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ ติดต่อโดยถูกไรอ่อนที่มีเชื้อกัด ไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า ใกล้กับพื้นดิน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่บริเวณที่ถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกไรอ่อนกัดประมาณ 10-12 วัน


อาการของโรคไข้รากสาดใหญ่

  • ปวดศีรษะ
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • ไอ
  • ตาแดง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดเมื่อยตัว
  • อ่อนเพลีย
  • บริเวณที่ถูกตัวไรอ่อนกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar)  แต่จะไม่ปวดและไม่คัน
  • ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้


วิธีลดความเสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า ปฏิบัติดังนี้
  1. ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
  2. ทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุงซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง
  4. หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ 
  5. หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไขมันทรานส์คืออะไร

วันปิยมหาราช พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5

เคบับ คืออะไร