“น้ำตาล” ในเครื่องดื่ม “หวาน” แค่ไหนถึงจะไม่เสี่ยง “เบาหวาน-อ้วน”




เมื่อชีวิตติดหวาน น้ำหนักเกินาตรฐานเอย พุงย้อย ๆ ขาใหญ่ ๆ เอย และโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ ทยอยตามมา แต่เมื่อเราหลงรักเครื่องดื่มอร่อย ๆ จนอาจเรียกได้ว่าไม่มีเธอไม่ได้ ขาดเธอเหมือนขาดใจ เราจะเลือกเครื่องดื่มอย่างไรให้ไม่อันตรายกับร่างกายในอนาคต


ทำไมเราต้อง “ลดหวาน” ในเครื่องดื่ม ?

พญ.พรรณพิมล วิปุสากร อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวัน คนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว หรือ 519.3 มิลลิลิตร ผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิง และพบว่าในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี เป็น กลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด
นอกจากนี้เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทย พบมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก เฉลี่ย 9-19 กรัม/100มิลลิลิตร ในขณะที่ปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน และโรคติดต่อเรื้อรังได้ในระยะยาว เช่น เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และฟันผุ เป็นต้น


กินผัก ลดเสี่ยงฟันผุ

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสิรฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า น้ำตาลเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในการผลิตกรดที่ทำลายผิวฟันจนลุกลามไปเรื่อย ๆ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการเน้นบริโภคผักหรือผลไม้ที่มีเส้นใยเซลลูโลส เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการเคี้ยวเส้นใยจะช่วยกระตุ้นให้มีน้ำลายมากขึ้น สามารถเจือจางสภาพความเป็นกรดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น ถั่วต่าง ๆ นมที่มีแคลเซียม และฟอสเฟตสูง


วิธี “ลดหวาน” ในเครื่องดื่ม

  1. สั่งเครื่องดื่มให้ติดปากว่า ขอ “หวานน้อย” ทุกครั้ง
  2. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ไข่มุก (เช่น ชานมไข่มุก) น้ำอัดลม สมูธตี้ เครื่องดื่มที่ใส่น้ำเชื่อม นมข้นหวาน น้ำตาลในรูปแบบอื่น ๆ โดยบริโภคไม่เกิน 1-2 แก้วต่อสัปดาห์เท่านั้น
  3. เลือกเครื่องดื่มที่มีการปรุงแต่งน้อย ๆ เช่น กาแฟเอสเปรสโซ่ (กาแฟดำ) ชาใส (ไม่ใส่นม ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม) แทนเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมมากมาย
  4. ไม่ใส่ท้อปปิ้งอื่น ๆ เพิ่ม เช่น ซอสช็อกโกแลต คาราเมล น้ำตาลเม็ดสี ๆ ไอศกรีม ฯลฯ
  5. สั่งแก้วเล็กที่สุดเสมอ

นอกจากนี้ อย่าเผลอสั่งขนม หรือของว่างทานเล่นอื่น ๆ มากินด้วยกันกับเครื่องดื่ม และอาจจะเพิ่มกฎให้กับตัวเองไปด้วยว่า หากวันไหนสั่งเครื่องดื่มกิน วันนั้นต้อออกกำลังกายเพิ่มอีก 30 นาที เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม น้ำเปล่า ยังถือเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด ให้ความสดชื่นได้ไม่แพ้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หากอยากได้น้ำเปล่าที่มีรสชาติขึ้นมาอีกนิด สามารถฝานผลไม้ที่ตัวเองชอบเป็นชิ้น ๆ ใส่ลงไปในแก้ว หรือขวดน้ำเย็น ๆ จิบดื่มระหว่างวันได้เช่นกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไขมันทรานส์คืออะไร

วันปิยมหาราช พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5

เคบับ คืออะไร