ดาวเทียมเทสส์ อาจช่วยให้เราพบ ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของ ระบบสุริยะ!
นี่คือภาพจินตนาการของดาวเคราะห์ปริศนาพร้อมวงโคจรของดาวเนปจูนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเทียมสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบ (Transiting Exoplanet Survey Satellite : TESS) อาจมีข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์ปริศนาที่ “อาจจะ”เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ของระบบสุริยะ
เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วมีการนำเสนอข้อมูล “ดาวเคราะห์ X” ซึ่งมีโอกาสเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ อยู่พ้นวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป คาดว่ามีมวลประมาณ 5 เท่าของมวลโลก วงโคจรของวัตถุท้องฟ้าในบริเวณนั้นบ่งชี้ว่า อาจมีวัตถุปริศนาอยู่ แต่เนื่องจากระยะที่ห่างไกลมากจึงยังไม่สามารถยืนยันด้วยการสังเกตพบดาวได้โดยตรง
ล่าสุดมีงานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการของสมาคมดาราศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คาดว่า ดาวเทียมเทสส์ (TESS) ของนาซาอาจเคยสำรวจผ่านและมีข้อมูลของดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่
ดาวเทียมเทสส์เป็นดาวเทียมสำหรับค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยวิธี “เคลื่อนที่ผ่านหน้า (Transit Method)” กล่าวคือ เมื่อดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ดวงแม่ แสงจากดาวฤกษ์จะลดลงอย่างเป็นรูปแบบ วิธีนี้เป็นวิธีค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากที่สุด
แม้ว่าการค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวได้ เนื่องจากดาวเคราะห์ X จะไม่เคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก แต่อาจค้นหาได้โดยนำข้อมูลการสำรวจท้องฟ้าของดาวเทียมเทสส์ร่วมกับการใช้เทคนิคซ้อนภาพทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า “ดิจิทัล แทร็กกิ้ง” (Digital Tracking)
อย่างไรก็ดี การนำข้อมูลภาพถ่ายในมุมมองเดียวกันมาซ้อนกันหลาย ๆ ภาพ เพื่อเพิ่มความสว่างของวัตถุในภาพ เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมสำหรับวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่แบบดาวเคราะห์ X นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องคาดเดาวงโคจรโดยประมาณของดาวเคราะห์ X เพื่อระบุตำแหน่งของดาวเคราะห์ที่แน่นอน จึงจะสามารถประมวลผลต่อไปได้
เทคนิคดิจิทัล แทร็กกิ้ง เป็นเทคนิคที่เคยใช้ร่วมกับข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เพื่อค้นหาวัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Object) นำไปสู่การค้นพบ 3 วัตถุ ได้แก่ Sedna, 2015 BP519 และ 2015 BP518 ถึงแม้ภาพที่ได้มีความละเอียดต่ำ แต่เมื่อนักดาราศาสตร์นำภาพของวัตถุทั้งสามมาปรับแก้จนมีความชัดเจนขึ้นก็ทำให้ระบุและสังเกตเห็นวัตถุนั้นได้
จากแบบจำลองคาดว่า ดาวเคราะห์ X มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ 9 - 24 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ดาวเทียมเทสส์สามารถตรวจจับได้ หากมีดาวเคราะห์ X อยู่จริง ดาวเคราะห์จะต้องปรากฏอยู่ในรูปถ่ายรูปใดรูปหนึ่งของดาวเทียมเทสส์แล้ว นักดาราศาสตร์จึงพยายามค้นหาข้อมูล เพื่อนำมาตรวจสอบด้วยการใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ซึ่งอาจทำให้ได้ภาพของดาวเคราะห์ X ที่ชัดเจนขึ้น เป็นหลักฐานสนับสนุนว่า มีดาวเคราะห์อีกดวงในระบบสุริยะของเราจริงหรือไม่ คงต้องลุ้นผลการตรวจสอบกันต่อไป
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น