หมดปัญหาลายมือหมอ! โรงพยาบาลดัง ยกเลิกใช้กระดาษ ลดสั่งยาผิดพลาด



นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ (ซีอีโอ) บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 จ.นครสวรรค์ นำระบบไอทีมาใช้ให้บริการผู้ป่วยและลดขั้นตอนการทำงาน หนึ่งในนั้น คือ การใช้เอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์และใช้เอกสารกระดาษแทน เพื่อลดความผิดพลาดในการสั่งยาและการรักษา ที่เกิดจากการอ่านลายมือของแพทย์เจ้าของไข้ไม่ออก 
"คุณหมอชอบเขียน แต่อ่านไม่ค่อยออก ลายมือตวัดหน่อย" นายสาธิต กล่าว
"เมื่อก่อนมีความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในการจ่ายยา การสั่งยาผิดมื้อบ้าง เดือนหนึ่งประมาณ 300-400 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ"
แต่หลังจากใช้เอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ให้หมอพิมพ์ แทนการเขียน พบว่าการสั่งจ่ายยาผิดพลาดลดลงเหลือเพียงแค่หลักหน่วย ประมาณ 5-6 ครั้ง ต่อเดือน

ฝึกอบรมบุคลากร-เพิ่มไอที ตลอด 10 ปี

นายสาธิตเล่าให้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เพราะตนและทีมงานสนใจด้านไอทีการแพทย์อยู่แล้ว และอยากทำให้โรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังได้รู้จักกับ ระบบการรับรองคุณภาพชื่อ EMRAM (เอ็มแรม) ระดับ 7 ขององค์กร Healthcare Information and Management Systems Society (เอชไอเอ็มเอสเอส)
ขณะนั้น หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แพทย์บางคนยังรู้สึกเคยชินกับการเขียน แต่หลังจากโรงพยาบาลนำระบบดังกล่าวมาใช้ แพทย์เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้โรงพยาบาลมีความภาคภูมิใจที่จะเรียกได้ว่านำระบบไอทีมาใช้ จนได้รับมาตรฐาน EMRAM ในระดับ 6 เมื่อหลายปีก่อน
ความพยายามที่จะทำให้มาตรฐานเพิ่มขึ้นยังไม่หยุด โรงพยาบาลจึงนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบขึ้น พร้อมกับการฝึกอบรมบุคลกรให้พร้อมยิ่งกว่าเดิม จนได้มาตรฐาน EMRAM ระดับ 7 เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นโรงพยาบาลแรกและแห่งเดียว และเป็นหนึ่งใน 2 โรงพยาบาลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไอทีเพิ่มคุณภาพ ลดต้นทุน-ความผิดพลาด

ซีอีโอรายนี้ บอกต่อไปว่า เครือโรงพยาบาลเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุนจากระบบนี้ได้มาก เนื่องจากระบบนี้ทำให้โรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือนำฐานข้อมูลไปใช้ได้ด้วย แถมยังลด "ต้นทุนจากการรักษาผิดพลาด" ได้เยอะมากด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่โรงพยาบาลที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว แต่คนไข้ก็ได้รับคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้นด้วย
"การลงทุนดิจิทัลเนี่ยเพิ่มคุณภาพ แล้วมันก็จะลดค่าใช้จ่ายไปในตัว ถ้าเมื่อก่อนเราใช้กระดาษ เราต้องใช้ที่นั่งรอยาเต็มเอียด เพราะกว่าจะกระดาษจะมาถึง สั่งยา จ่ายยา แต่พอใช้ดิจิทัลปั๊บ เก้าอี้รอยาจะมีคนไม่เยอะ ถ้าหมอคีย์ปั๊บ ห้องยาจัดปุ๊บ รับยา" นายสาธิต กล่าว
"เราเกิดมาเพราะเราจะให้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จะอยู่ในชุมชุน ที่มีการแพทย์ยังเข้าไม่ถึง"

โรงพยาบาลเล็กทำได้ แห่งใหญ่กว่าก็น่าจะทำได้

นายสาธิต เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ต้องการอยากให้โรงพยาบาลดัง แต่ต้องการทำให้เห็นว่า โรงพยาบาลเล็กๆ ที่มีทรัพยากรน้อยๆ อย่างพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ โรงพยาบาลใหญ่กว่านี้ ก็น่าจะทำได้เช่นกัน 
ซีอีโอรายนี้ บอกอีกว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 ปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วอย่างนี้อีกอย่าง คือ ตัวบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กร ที่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ ขนาดแม่บ้านก็ยังตื่นตัว
"ที่โรงพยาบาลใช้โทรศัพท์ในการตอกบัตรเป็นทางเลือก แม่บ้านก็ตื่นตัว ถึงกับซื้อสมาร์ทโฟนมา ซึ่งไม่ใช่แค่ตอกบัตร แต่ยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย" นายสาธิต กล่าว

แบ่งปันความสำเร็จ หวังยกระดับการแพทย์ไทย

นายสาธิต พูดถึงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปว่า ขณะนี้โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 ใช้ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ทั้งยังสามารถใช้ร่วมกับโรงพยาบาลอื่นๆ ในเครือ และอนาคตตนหวังว่าโรงพยาบาลอื่นๆ ก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ที่นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็มีสัญญาณว่า ต้องการผลักดันให้เกิดการเชื่อมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ห่างไกลด้วย ซึ่งนายสาธิต บอกว่า ระบบนี้จะทำให้การรักษาผ่านอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นจริง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไขมันทรานส์คืออะไร

วันปิยมหาราช พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 5

เคบับ คืออะไร