ประวัติศาสตร์ “มวยไทยสากล”
ในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ได้มีการนำเอากีฬาและการบันเทิงหลายอย่างมาจากยุโรป ซึ่งสมัยนั้นมักเรียกกันว่า “แบบฝรั่ง” เช่น เพลงฝรั่ง, เครื่องสายฝรั่ง, หนังฝรั่ง เป็นต้น คำว่า “แบบฝรั่ง” นี้ต่อมาบางทีใช้เป็น “แบบสากล” ดังเช่นเมื่อนำดนตรีแบบฝรั่งเข้ามาปรับปรุงเข้ากับเนื้อร้องไทย ก็เรียกกันว่าเป็น “เพลงไทยสากล”
การชกมวยแบบฝรั่ง มีการสวมนวมและใช้กฎกติกาแบบตะวันตก เมื่อเข้ามาแรก ๆ ก็เรียกกันว่า “มวยฝรั่ง” ต่อมาจึงเรียกกันเสียใหม่ว่า “มวยสากล”
มวยฝรั่ง หรือมวยสากล ต่างจากมวยไทยที่ในการชกกันจะใช้หมัดเป็นอาวุธเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ใช้ศอก เข่า และเท้าอย่างมวยไทย มวยสากลนั้นกว่าจะมาเป็นแบบปัจจุบันมีพัฒนาการมายาวนาน รูปหล่อสำริดของนักมวยผู้ชนะการแข่งขันโอลิมปิคครั้งที่ 141 เมื่อก่อนคริสตกาล 216 ปี ทำให้รู้ว่าในสมัยโรมันโบราณก็มีการแข่งขันมวยแล้ว และทำให้รู้ด้วยว่ามวยในยุคนั้นก็ใช้การพันหมัดทำนองเดียวกับมวยไทยเหมือนกัน (แต่ใช้แถบหนัง ไม่ใช่ด้ายดิบ) ในสมัยหลังต่อมาอีกนาน เมื่อมวยกลายเป็นกีฬาที่นิยมกันในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษ แล้วขยายไปยังอเมริกา นักมวยยุคนั้นชกกันด้วยหมัดเปล่า และชกกันแบบให้แพ้กันไปข้างหนึ่ง คือกำหนดยกบางทีถึง 45 ยก ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า ต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1867 หรือ พ.ศ. 2410 จึงมีการกำหนดใช้กติกาแบบใหม่ที่เรียกว่า กติกาควีนสเบอร์รี่ (Queensberry Rules) มีการกำหนดจำนวนยกเพียง 20 ยก แล้วลดมาเป็น 15 หรือ 12 ยก มีสังเวียนที่กำหนดขนาดมาตรฐาน มีการนับเวลาชกและเวลาพักระหว่างยก มีกำหนดการนับ 10 และอื่น ๆ ที่สำคัญคือให้มีการสวมนวม จากสมัยนี้เป็นต้นมา การแข่งขันชกมวยสากลจึงค่อยเข้ารูปมาเป็นแบบปัจจุบัน
มวยสากลหรือมวยฝรั่ง อย่างที่ไทยเรียกกันในสมัยแรก ๆ นับเป็นของใหม่ของคนไทย บุคคลแรกที่นำเข้ามาเผยแพร่คือ ม.จ. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล โดยประมาณปี พ.ศ. 2455 หลังจากที่ทรงสำเร็จการศึกษากลับมาจากต่างประเทศ ในประวัติของ ม.จ. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ ที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ทรงเรียบเรียงนั้น ก็ปรากฏว่า สมัยที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมอีตันนั้น ก็ทรงได้ชื่อเสียงว่าเป็นนักมวยรุ่นเบาของโรงเรียนแล้ว เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ยังปรากฏว่านอกจากงานราชการตามตำแหน่งราชเลขาธิการแล้ว ยังได้ทรงช่วยสอนและกำกับพลศึกษาของกระทรวงธรรมการแผนกมวยฝรั่งอยู่หลายปี และก็ได้แต่งตำราขึ้น เป็นที่นับถือกันว่าเป็นครูของครูมวยในสมัยต่อมาหลายคน
การสอนนั้น ในครั้งแรกได้มีการฝึกสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพลศึกษากลางด้วย โดยฝึกในหมู่ครูและนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบและนักเรียนโรงเรียนพลศึกษากลาง นักเรียนที่เรียนวิชามวยคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านมวยฝรั่งมากคือนายนิยม ทองชิต ซึ่งต่อมาจะเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอนโผน กิ่งเพชร แชมเปี้ยนโลกคนแรกของไทย
จากโรงเรียนสวนกุหลาบและโรงเรียนพลศึกษากลาง ความนิยมก็แพร่หลายไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว จนมีการแข่งขันกันในระหว่างโรงเรียนขึ้น และมีการแบ่งรุ่นตามน้ำหนักในสมัยที่มีการฝึกสอนวิชามวยฝรั่งอันเป็นมวยแบบใหม่นั้น มวยไทยก็เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางเช่นกัน ในโรงเรียนสวนกุหลาบเวลานั้นก็มีการฝึกสอนมวยไทยโดยบรรจุไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนด้วย (ผู้เขียนตำราคือหลวงวิศาลดรุณกร อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบ) นอกจากจะเป็นสนามแรกของการแข่งขันมวยไทยยุคคาดเชือกแล้ว โรงเรียนนี้ได้ผลิตนักมวยที่มีชื่อเสียงทางด้านมวยไทยออกมาหลายคน เช่น นายจีน พลจันทร์ (มีฉายาร่วมกับนายทับ จำเกาะ ยอดนักเตะจากโคราชว่า “หมัดนายจีน ตีนนายทับ“)
อย่างไรก็ตามมวยไทยนั้นเมื่อเทียบกับมวยฝรั่งแล้วก็ดูกันว่าเป็นกีฬาที่โหดร้ายทารุณอยู่บ้าง มีการใช้อาวุธหลายอย่าง และใช้การคาดด้ายดิบแทนการสวมนวม ถ้านับทางผู้เรียนวิชามวยฝรั่งซึ่งมักเป็นขุนนางหรือนักเรียนลูกขุนนางกับนักมวยไทยทั่ว ๆ ไปซึ่งโดยมากเป็นคนหัวเมืองแล้ว มวยไทยกับมวยฝรั่งก็แทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย จนอีกหลายปีต่อมา
มวยฝรั่ง หรือมวยสากลในสมัยที่ ม.จ. วิบูลย์สวัสดิวงศ์ทรงนำมาเผยแพร่นั้น เป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนแปลงในรูปแบบชั้นเชิงจากแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่ กล่าวคือแต่เดิมนั้น นักมวยทั้งสองฝ่ายจะคอยจดจ้องหาโอกาสหรือสืบเท้าเข้าแลกหมัดกัน นักมวยที่มีชื่อในยุคต้น ๆ ของการแข่งขันตามแบบกติกาสมัยใหม่ เช่น จอห์น ซุลลิแวน (John L. Sullivan) หรือ แจ๊ค จอห์นสัน (Jack Johnson) เป็นต้น ล้วนชกด้วยสไตล์แบบนี้
ความเปลี่ยนแปลงของมวยสากลเกิดขึ้นครั้งสำคัญ ไม่ใช่อยู่แค่ที่หันมาสวมนวม แต่อยู่ที่เมื่อจิมมี่ ไวลด์ (Jimmy Wilde) นักชกร่างเล็กจากอังกฤษ (เขาเป็นชาวไอริช) เจ้าของฉายา “เจ้าหนูปรมาณู” (The Mighty Atom) หรือ “ปีศาจหมัดค้อน” (The Ghost with a Hammer in his Hand) ขึ้นมาแสดงฝีมือจนได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนรุ่นฟลายเวทของยุโรป (ถือว่าเป็นตำแหน่งแชมเปี้ยนโลก) จิมมี่ ไวลด์ เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2457 จนมาถึงปี พ.ศ. 2466 เมื่อเขาประกาศแขวนนวม หลังจากที่เขาเรื้อรังการชกและต้องพ่ายปานโช วิลล่า (Pancho Villa) นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งอายุอ่อนกว่าเขา 9 ปี หลังจากที่แขวนนวมแล้ว เขายังเขียนตำรามวยไว้ด้วย (แปลเป็นไทยปี 2481 โดย ส. ประเสริฐบุญ ในชื่อ “วิชามวยฝรั่ง“)
ในประวัติศาสตร์มวยสากลนั้น ถือกันว่าจิมมี่ ไวลด์ เป็นสุดยอดของมวยรุ่นเล็กที่ไม่มีใครทาบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จิมมี่ ไวลด์ เป็นมวยร่างเล็ก สูงเพียง 159 เซนติเมตร จึงเสียเปรียบในเรื่องรูปร่างคู่ต่อสู้เสมอ แต่เขาเอาชนะคู่ต่อสู้คนแล้วคนเล่าได้ ก็เพราะน้ำหนักหมัดที่หนักพอ ๆ กับนักมวยรุ่นไลท์เวท และสไตล์การชกที่เขาคิดสร้างขึ้นมาเองเป็นพิเศษ (ว่ากันว่าเขาคิดขึ้นมาจากการเล่นกับแมว) สไตล์การชกของเขาคือ เมื่อเผชิญคู่ต่อสู้ เขาจะตั้งการ์ดต่ำมาก (ระดับเอว) และบุกเข้าโจมตีคู่ต่อสู้จากทุกมุมที่ทำได้ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามชกเขาไม่ถูกเลย เขาจะใช้หมัดหน้าชกซ้ำติด ๆ กันหลายครั้ง (หมัดแย็บ) โยกตัวเดินหน้า พร้อมกับหลบหมัดคู่ต่อสู้ และเต้นด้วยปลายเท้า (ฟุตเวิร์ค) เข้าออกตลอดเวลา นักเขียนฝรั่งที่เขียนเรื่องประวัติมวยสากลคนหนึ่ง กล่าวว่านักมวยรุ่นหลังที่ชกสไตล์เดียวกับจิมมี่ ไวลด์ ก็คือมูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali) ชื่อเสียงของจิมมี่ ไวลด์ กลายเป็นตำนาน และก็ต้องนับว่าสไตล์การชกของเขาเป็นการปฏิวัติมวยสากลทีเดียว เพราะมวยรุ่นต่อ ๆ มาก็หันมาใช้หมัดแย็บและฟุตเวิร์คกันจนปัจจุบัน
ในช่วงแรก ๆ ที่มีการสอนมวยสากลในเมืองไทย คือราว พ.ศ. 2455 นั้น จิมมี่ ไวลด์ ยังไม่มีชื่อเสียงบนสังเวียน แต่ต่อ ๆ มา ก็น่าจะได้แบบสไตล์ของจิมมี่ ไวลด์ มาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเขามีชื่อเสียงเต็มที่ ส่วนมวยฟิลิปปินส์ ซึ่งรับการชกมวยสากลมาโดยตรงและก่อนชาติอื่นในเอเชีย รับเอาวิธีการใช้หมัดแย็บและฟุตเวิร์คมาใช้อย่างเต็มที่ จนใช้วิธีเดียวกันนี้เอาชนะเจ้าตำรับได้ คือเมื่อปานโช วิลล่า พบกับจิมมี่ ไวลด์ ที่นิวยอร์ก (มิถุนายน พ.ศ. 2466)
การเปลี่ยนแปลงของมวยฝรั่งหรือมวยสากลนี่เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสไตล์การชกของมวยไทยด้วย การเปลี่ยนนั้นมีขึ้นหลัง พ.ศ. 2470 และผู้ที่เปลี่ยนแปลงก็คือนักชกมวยฝรั่งที่หันมาชกมวยไทยจนกลายเป็นอาจารย์ของนักมวยไทยหลายคน
การชกมวยไทยแบบเดิมนั้น ถึงแต่ละสำนักจะมีเอกลักษณ์และการใช้อาวุธเด่นของตัวเอง แต่รูปแบบโดยรวมก็คือการยืนจดจ้อง แล้ว “ย่าง” เท้าเข้าหาจังหวะทำกัน การชกในสมัยคาดเชือกสนามมวยสวนกุหลาบมาจนถึงยุคสนามมวยท่าช้าง–หลักเมือง ก็เป็นเช่นนี้
ปี พ.ศ. 2470 หลังจากที่สนามมวยท่าช้าง–หลักเมืองเลิกไปแล้ว พระยาคทาธรบดีสีหบาลเมืองได้สร้างสนามมวยสวนสนุกขึ้น ได้สั่งเอานักมวยจากต่างประเทศเข้ามาชกโชว์ในแบบมวยสากล (เรียกว่า Ted Show) นักมวยที่เข้ามาส่วนมากเป็นชาวฟิลิปปินส์ ในครั้งแรก ๆ ก็ชกโชว์กันเอง ต่อมาได้มีการจัดนักมวยไทยขึ้นชกด้วยอย่างจริงจัง โดยนายสุวรรณ นิวาสวัติ นักมวยโรงเรียนสวนกุหลาบ ขึ้นชกกับเทอร์รี่ โอแคมโป นักมวยฟิลิปปินส์ และนายโม่ สัมบุณณานนท์ นักมวยเหรียญทองรุ่น ข. จากโรงเรียนวัดแก้วแจ่มฟ้า ขึ้นชกกับยีซิล โคโรนา นักมวยฟิลิปปินส์เหมือนกัน ผลก็คือนายสุวรรณแพ้ แต่นายโม่ชนะ นับเป็นคนไทยคนแรกที่เอาชนะนักมวยต่างประเทศได้ในแบบมวยสากล
ในตอนนั้นนายแอ ม่วงดี นักมวยไทยมุสลิม ที่ชกมาแต่ครั้งเวทีท่าช้าง–หลักเมือง ได้เดินทางไปชกมวยแถบแหลมมลายูและอินโดนีเซีย ได้พบกับแบตตลิ่ง กิลโมร์ (Battling Gilmor) นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งตระเวนชกอยู่แถวนั้นเช่นกัน จึงได้ชักชวนให้เข้ามาชกในเมืองไทย เมื่อนายแอกลับมานั้น เขายังได้นำเอากระจับหรือเครื่องป้องกันอวัยวะเพศของนักมวยแบบใหม่ คือทำด้วยโลหะใช้คาดในกางเกง เข้ามาใช้ด้วย ซึ่งก็เป็นที่นิยมและใช้กันต่อมาจนปัจจุบันนี้ (ในขณะนั้นนักมวยชาวไทยยังใช้แบบผ้ายัดนุ่นคาดทับอยู่นอกกางเกงอยู่)
แบตตลิ่ง กิลโมร์ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ผู้นี้เองที่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการชกมวยไทยขึ้นในเวลาต่อมา
เมื่อมาถึงเมืองไทยแรก ๆ แบตตลิ่ง กิลโมร์ จะเริ่มสร้างชื่ออย่างไรไม่ปรากฏชัด แต่ในหนังสือน๊อคเอาท์ ฉบับชุมนุมดารามวยไทย ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงปี 2473-74 ได้กล่าวถึงเขาว่า “เสือร้ายแห่งชาติฟิลิปปีโน ผู้ได้สังหารนักมวยทั้งเทศและไทยไปหลายคนแล้ว นอกจากเติม บุณโยบล นักมวยอเมเจอร์ กิลโมร์ไม่ได้ลดละให้แก่คู่ปรับคนใดได้โอกาสต่อกรจนชิงแต้มขึ้นหน้าไปได้เลยแม้คนเดียว ด้วยหมัดขวาขว้างทำนองแมวตบ ซึ่งหนัก เขาเป็นที่ครั่นคร้ามในจำพวกมวยขนาดเดียวกันโดยมาก กิลโมร์หนัก 9 สโตน 4 ปอนด์”
ในครั้งแรก ๆ แบตตลิ่ง กิลโมร์ ชกมวยแบบฝรั่งทั้งกับคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาชกมวยในไทยเวลานั้น สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้หลายคน ต่อมาจึงหันมาชกมวยไทยดูบ้าง (ไม่ปรากฏว่าหัดจากใคร) ซึ่งเขาก็สามารถใช้วิชามวยสากลในสไตล์จิมมี่ ไวลด์ ที่ตนชำนาญ มาผสมผสานกับวิชามวยไทยได้ จนสามารถเสมอหรือเอาชนะนักมวยไทยมีชื่อได้
หนังสือพิมพ์น๊อคเอ๊าท์ ฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงคุณภาพการชกของกิลโมร์ว่า “ตั้งแต่กิลโมร์โผล่เข้ามาเมืองเรา ดูเหมือนการชกมวยของเขาทั้งหมด มีแพ้อยู่ที่เติม บุณโยบล คนเดียว ซึ่งโดยคะแนนเท่านั้น นอกนั้นเสมอเสีย 2 ครั้ง ชนะอย่างนิ่มนวล 8 ครั้ง เขาเป็นนักมวยร่างค่อนข้างเล็ก ขนาด 9 สโตนกว่า ๆ แต่ก็ปราดเปรียว รวดเร็วราวกับแมวป่าตัวยง มีพิษสงอย่างร้ายกาจอยู่ที่หมัดขวาขว้างในทำนองเดียวกับแมวตบ ซึ่งเมื่อถูกคางปรปักษ์เข้าแล้ว ยากนักที่ปรปักษ์คนนั้นจะไม่ล้มถึงถูกนับสิบ นอกจากหมัดขวา กิลโมร์ยังมีหมัดซ้ายที่น่ากลัวอีกด้วย ยิ่งมาขณะนี้แล้ว เราจะกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า กิลโมร์ในแบบมวยไทยก็สามารถอาจหาญคล่องแคล่วเหมือนกิลโมร์ที่คล่องแคล่วในเชิงมวยฝรั่งแล้ว“
นี่คือคำรับรองจากหนังสือพิมพ์หมัดมวยในสมัยนั้น ส่วนผลการชกของกิลโมร์ทั้งมวยไทยและมวยฝรั่งหรือมวยสากลในช่วงปี พ.ศ. 2473-74 เท่าที่รวบรวมไว้ได้ส่วนหนึ่ง คือ
- แพ้คะแนน เติม บุณโยบล นักมวยอเมเจอร์ (สมัครเล่น) ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2473
- ชนะคะแนน นิด ภู่ภิญโญ ในแบบมวยไทย 5 ยก เมื่อ 31 ธันวาคม 2473
- ชนะน็อคเอ๊าต์ แบตตลิ่ง กีย์ นักมวยสิงคโปร์ยก 3 ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 31 มกราคม 2473 (เวลานั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นการเริ่มปีใหม่)
- ชนะคะแนน ญัง ยอห์นสัน ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 31 พฤษภาคม 2474
- ชนะคะแนน ดับบลิว วิลมอร์ค ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 27 มิถุนายน 2474
- เสมอ สะเล็บ ศรไขว้ นักมวยเอกตั้งแต่ยุคคาดเชือกเวทีสวนกุหลาบ และเป็นหัวหน้าคณะลูกศร ในแบบมวยไทย 5 ยก เมื่อ 4 กรกฎาคม 2474
- ชนะคะแนน เทอร์รี่ โอแคมโป นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่เคยชนะสุวรรณ นิวาสวัติ และโม่ สัมบุณณานนท์ มาแล้ว ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 22 สิงหาคม 2474
- ชนะน็อคเอ๊าต์ ชม วรรณประภา นักมวยสังกัดคณะลูกศร ยก 2 ในแบบมวยไทย 5 ยก เมื่อ 10 ตุลาคม 2474
- ชนะคะแนน ซิด แนช นักมวยชาวสิงคโปร์ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 21 ตุลาคม 2474
- ชนะเทคนิเกิลน็อคเอ๊าต์ อัลเบิร์ต เกรต้า นักมวยสวิส สัญชาติสิงคโปร์ ยก 5 ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เมื่อ 31 ตุลาคม 2474
- เสมอ วัน เมืองจันทร์ ยอดนักมวยจากจันทบุรี ในแบบมวยไทย 5 ยก เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2474
นอกจากนี้แล้วยังมีสถิติที่ยังไม่สามารถสอบค้นวันเดือนปีที่ขึ้นชกได้อีก คือ
- เสมอ เสงี่ยม จุฑาเพชร เจ้าของฉายา “พยัคฆ์ร้ายแห่งสังเวียน” นักมวยเอกจากเพชรบุรี สังกัดคณะ ว. ของนายหวาด เสตะปุระ ในแบบมวยไทย 5 ยก
- ชนะคะแนน ศรี พระขรรค์ชัย (หรือครูพูน พระขรรค์ชัย) นักมวยสังกัดคณะลูกศร (และต่อมาเป็นหัวหน้าคณะ พระขรรค์ชัย) ในแบบมวยไทย 5 ยก
- ชนะฟาวล์ สุวรรณ นิวาสวัติ นักมวยเอกสมัยเวทีสวนกุหลาบและเป็นศิษย์เอกของหลวงพิพัฒน์พลกาย ในยกที่ 2 ในแบบมวยฝรั่ง 10 ยก เนื่องจากนายสุวรรณใช้ศอกตีแบตตลิ่ง กิลโมร์ คิ้วแตก (หนังสือพิมพ์กีฬา ฉบับวันที่ 11 มีนาคม 2494 นำเรื่องมาเล่าว่า นายสุวรรณบ่นว่า “ไอ้หะ–ก็มันวิ่งเข้ามาชนของกูเองนี่หว่า“)
จากสถิติเท่าที่รวบรวมไว้ได้นี้ จะเห็นได้ว่าฝีมือมวยไทยของแบตตลิ่ง กิลโมร์ ไม่ธรรมดาเลย การเสมอกับสะเล็บ ศรไขว้ ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสะเล็บเป็นมวยขั้นปรมาจารย์คนหนึ่ง นายแพ เลี้ยงประเสริฐ จากสำนักบ้านท่าเสาก็ทำได้เพียงตีเสมอกับสะเล็บเท่านั้น หรือการเสมอกับเสงี่ยม จุฑาเพชร ยอดมวยไทยของเวลานั้นก็แสดงว่ากิลโมร์มีฝีมือจริงอย่างที่หนังสือพิมพ์น๊อคเอาท์ยกย่องไว้นั่นเอง
จากชื่อเสียงของเขานี่เอง ครูมาลัย ชูพินิจ จึงได้ตั้งนามปากกาใช้ในการเขียนเรื่องเกี่ยวกับมวยว่า “แบตลิ่ง กรอบ” และต่อมาก็มีผู้ใช้ว่า “แบตตลิ่ง กิน” กับ “แบตตลิ่ง นอน” ตามมา
เพราะฝีมือการชกเป็นที่ยอมรับ เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นแบตตลิ่ง กิลโมร์ ได้ตั้งคณะมวยของตนขึ้นและส่งลูกศิษย์ขึ้นชกในนามคณะกิลโมร์ มีนักมวยไทยหลายคนไปสมัครอยู่ในสังกัดคณะกิลโมร์ของเขา เช่น นายแอ ม่วงดี, นายชื่น แสงเสริม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ญัง กิลโมร์), สามพี่น้องตระกูล “สาระเทียน” คือนายเล็ก, นายอ่อน, และนายสิน (เจ้าของฉายา “หมัดคทาพญามาร“), นายนิด ภู่ภิญโญ (เคยแพ้แบตตลิ่ง กิลโมร์ ในแบบมวยไทยมาก่อนที่จะเข้าสังกัด), นายทองหล่อ พึ่งพิบูลย์, นายเปลี่ยน สุวรรณแพทย์, และนายพิมพ์ ภู่ภิญโญ เป็นต้น นักมวยจากคณะกิลโมร์นี้น่าจะเป็นนักมวยไทยรุ่นแรก ๆ ที่เอาวิธีการแบบกิลโมร์มาใช้ในการชกมวยไทย ตามอย่างเจ้าสำนัก
วิธีชกของแบตตลิ่ง กิลโมร์ ก็คือการใช้มวยฝรั่งในสไตล์ของจิมมี่ ไวลด์ คือใช้หมัดหน้าชกซ้ำหลาย ๆ ครั้ง (หมัดแย็บ) ใส่คู่ต่อสู้เป็นการก่อกวนและตัดกำลัง การเต้นฟุตเวิร์คเข้าออกด้วยปลายเท้า การเดินหน้าเข้าทำพร้อมกับโยกเอวหลบหลีกอาวุธของคู่ต่อสู้ มาผสมผสานเข้ากับวิชามวยไทยซึ่งเป็นของใหม่สำหรับเขา เมื่อแบตตลิ่ง กิลโมร์ มาชกมวยไทยกับนักมวยไทย ซึ่งคงใช้รูปแบบการยืนเต็มเท้า (ทำนองเดียวกับมวยฝรั่งอย่างเก่า) ขยับตัวแบบก้าวย่าง หรือย่างสามขุม รอจังหวะคู่ต่อสู้เผลอเปิดช่องว่างจึงจู่โจมเข้าทำ นักมวยไทยสมัยนั้น ยังไม่เคยเจอวิธีนี้มาก่อนจึงเป็นฝ่ายถูกหมัดของกิลโมร์ที่ชกทำนองแมวตบเสียจังหวะ ที่สำคัญคือหมัดแย็บ หรือที่เรียกกันในเวลานั้นว่า “หมัดหนูไต่ราว” นั้น นักมวยสมัยนั้นยังไม่อาจแก้ได้ทันที ครูพูน พระขรรค์ชัย เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า นัยน์ตาของท่านข้างหนึ่งต้องบอบช้ำและสุดท้ายก็พิการไปก็เพราะฤทธิ์หมัด “หนูไต่ราว” ของแบตตลิ่ง กิลโมร์ นี่เอง ครูบัว วัดอิ่ม ยอดมวยคนหนึ่งของยุคคาดเชือกและยุคต่อมาอีกหลายเวทีถึงกับเขียนกลอนสอนไว้ว่า “หมัดหนูไต่ราวต้องยาวแทง“ คือต้องถีบสกัดอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะการนำเอาแบบการชกของมวยฝรั่งมาผสมผสานกับวิชามวยไทย และสามารถตีเสมอหรือเอาชนะนักมวยไทยชั้นยอดได้นี้เอง นักมวยไทยหลายคนจึงเข้ามาสังกัดในคณะของเขาอย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น หรือนักมวยอีกหลายคนที่มีประสบการณ์การชกกับกิลโมร์ ก็ได้เอาวิธีการเช่นนั้นมาปรับปรุงแก้ไขการชกของตนเอง แล้วถ่ายทอดต่อลูกศิษย์ จนกระทั่งค่อย ๆ กลายเป็นแบบแผนที่มีการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
นักมวยไทยรุ่นหลังที่ถอดแบบสไตล์การชกแบบนี้จนมีชื่อเสียง ปราบคู่ต่อสู้ได้คนแล้วคนเล่า คือ สุริยา ลูกทุ่ง นักมวยรุ่นเล็กซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในช่วงสงครามโลก เขาใช้ฟุตเวิร์คเต้นหาจังหวะเพื่อเตะสองชั้น และใช้วิธีโยกเอวหลบหลีกอาวุธของคู่ต่อสู้ได้เป็นที่ตื่นตาของแฟนมวย เดชา ปราการนันท์ ได้บรรยายถึงการชกของสุริยา ลูกทุ่ง กับสมาน ราชวัตร ว่า “สุริยาก็เยื้องกรายออกจากมุมของเขา แล้วก็เริ่มเต้นฟุตเวิร์คกรีดกรายเหมือนนางระบำผู้เชี่ยวชาญ พวกเราเฝ้าดูการฟุตเวิร์คของเขาอย่างอัศจรรย์ใจ เพราะมันเต็มไปด้วยท่าทางและจังหวะอันสวยงาม…เต้นกรีดกรายเข้าจังหวะเสียงปี่กลอง…สมาน ราชวัตร ก็รุกไล่เข้าประชิด เหวี่ยงหมัดซ้ายขวาอุตลุด สุริยาก็โยกตัวหลบโอนไปเอนมา จนหมัดหุ้มนวมของคู่ต่อสู้แหวกว่ายอยู่ในอากาศอันว่างเปล่า พอสะอึกเข้าประชิด สุริยาก็สปริงตัวออกมาเต้นเข้าจังหวะเสียงกลองอยู่กลางเวทีเสียแล้ว…เท้าซ้ายของสุริยาที่กำลังล่องลอยอยู่กลางเวทีก็ดีดฉับเหมือนม้าดีด มันฟาดเข้าที่ขาพับของสมานอย่างจังและรวดเร็ว…และในวินาทีเดียวกันนั้น ด้วยเท้าข้างเดียวกัน แทนที่มันจะตกถึงพื้น มันกลับดีดตวัดขึ้นไป…และมันฟาดเข้าตรงทัดดอกไม้พอดิบพอดี“
นี่คือคำบรรยายการใช้ฟุตเวิร์คตามแบบมวยสากล ประกอบการใช้อาวุธมวยไทยได้อย่างดี ในชั้นเชิงการชกแบบมวยสากลของสุริยา ลูกทุ่ง เดชา ปราการนันท์ ยังบรรยายอีกว่า
“พอเริ่มต้น สุริยาก็เต้นฟุตเวิร์คอย่างคล่องแคล่วและชำนิชำนาญ โดยใช้ปลายเท้าพาตัวเองให้ลอยละล่องไปรอบ ๆ ได้อย่างสวยงามยิ่ง มือซ้ายตกห้อยอยู่ข้าง ๆ ตัว มือขวายกไว้ที่ซอกคาง แล้วโยกตัวไปมาเหมือนเอวตั้งอยู่บนลวดดอกไม้ไหว“
ตัวอย่างการพบกันระหว่างมวยไทยที่ฝ่ายหนึ่งชกไปทางแบบเก่ากับอีกฝ่ายหนึ่งชกด้วยสไตล์แบบใหม่ คือ การชกกันระหว่าง “ยักษ์สุข“ สุข ปราสาทหินพิมาย กับ “เทพบุตรสังเวียน“ ชูชัย พระขรรค์ชัย ชูชัยใช้หมัดแย็บ และใช้ฟุตเวิร์คเข้าทำและหลบหลีก ยักษ์สุขไล่จนหมดแรง ต้องพ่ายแพ้ไปอย่างขาดลอย การใช้หมัดแย็บนี้ ก็เพราะชูชัยเป็นศิษย์ของครูพูน พระขรรค์ชัย ซึ่งเคยมีประสบการณ์ปราชัยแบตตลิ่ง กิลโมร์ จนเสียตามาแล้ว
กล่าวได้ว่า แบตตลิ่ง กิลโมร์ เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่เปลี่ยนมวยไทยจากแบบเดิมมาเป็นแบบสมัยปัจจุบัน (ที่จริงสมัยหลัง ๆ มานี้ นักมวยไทยไม่ใช้หมัดแย็บกับฟุตเวิร์คกันแล้ว นอกจากอาศัยแต่กำลังกอดปล้ำตีเข่ากันอย่างเดียวเป็นส่วนมาก) โดยการประสานเอาการชกสองแบบเข้าด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงแค่ใส่นวมแทนการคาดเชือก หลังจากที่นายแพ เลี้ยงประเสริฐ ชกนักมวยเขมรตาย ซึ่งนั่นเป็นเพียงการเปลี่ยนอุปกรณ์เท่านั้น แต่กิลโมร์เปลี่ยนแปลงสไตล์การชกด้วยการเอาวิธีของมวยสากลเข้ามาใช้ จนเป็นที่นิยมกันทั่วไป มวยไทยกับ “มวยฝรั่ง“ จึงไม่ได้แยกกันเด็ดขาดอย่างแต่ก่อนอีกต่อไป ดังจะเห็นได้ว่า นักมวยไทยสมัยต่อมาสามารถขึ้นชกสร้างชื่อได้ทั้งแบบมวยไทยและมวยสากล เช่น สมาน ดิลกวิลาศ, ผล พระประแดง, มาจนถึงอภิเดช ศิษย์หิรัญ, สามารถ พยัคฆ์อรุณ หรือ สมรักษ์ คำสิงห์ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะมีพื้นฐานมวยสากลปนอยู่นั่นเอง ขณะที่สมัยแรก ๆ จะมีก็แต่ศิษย์สำนักสวนกุหลาบที่หัดมวย 2 แบบ อย่างสุวรรณ นิวาสวัติ เท่านั้นที่จะทำได้
นอกจากตัวอย่างจากกิลโมร์และลูกศิษย์ในคณะของเขาแล้ว อีกประการหนึ่งที่ทำให้การชกในแบบใหม่นี้เป็นที่ยอมรับกันกว้างขวาง ก็คือกระแสนิยมของสมัยนั้นที่นักมวยหลายคนดูจะให้ความนิยมแบบมวยฝรั่งมากขึ้น ดังเห็นได้ว่านักมวยทุกคนที่ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์ มักสวมรองเท้า ทั้ง ๆ ที่เป็นนักชกแบบมวยไทยในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของมวยไทยแบบเก่านี้ อาจารย์เขตร ศรียาภัย ได้ให้ความเห็นเรื่องการก้าวย่างของมวยไทยโบราณ กับมวยสมัยใหม่ไว้ในหนังสือปริทรรศน์มวยไทยของท่านว่า
“อันที่จริงนักมวยสมัยโบราณ ไม่มีการยืนนิ่งๆ อยู่กับที่ เพราะการตั้งท่าทำนองนั้น อาจทำให้ ‘มวย‘ กลายเป็น ‘ม้วย’ เมื่อใดก็ได้ ในการชกต่อยแบบมวยสากลถือว่าฟุตเวิร์ค (Foot Work) เป็นความรู้สำคัญที่จะนำนักมวยไปสู่สุดยอด มวยไทยก็เช่นเดียวกัน มีท่าก้าวย่างซึ่งถือว่าสำคัญ อาจใช้ป้องกันและต่อสู้ได้ในขณะเดียวกัน วิธีก้าวย่างที่อำนวยผลฉกรรจ์หรือผลสำเร็จจึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้แทนการทอดทิ้งอย่างปัจจุบัน เพราะหากการก้าวย่างไม่มีประโยชน์จริงแล้ว วิชามวยไทยคงไม่จีรังยั่งยืนอยู่ได้ถึงบัดนี้ และนายยัง หาญทะเล สมัยสนามมวยสวนกุหลาบคงจะพุงทะลุ ก่อนเรียกเลือดสดๆ ของมวยจีนอย่าง ‘จี้ฉ่าง‘ ซึ่งมีนิ้วมือแข็งแทงไม้กระดานหน้า 2 นิ้ว แตก 2 ซีก แต่น่าเสียดายที่มวยไทยทุกวันนี้ ไม่มีการก้าวย่างแบบอมตะ ต่างหลงใหลดัดแปลงให้คล้ายท่ามวยสากล เพราะเหตุละเลยท่าสำคัญที่โบราณเรียกว่า ท่า ‘ย่างสามขุม’ ”
เพราะมวยไทยสมัยใหม่ไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกแล้วนี้เอง แต่อาศัยวิชามวยสากลเข้ามาประกอบนี้เอง อาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงสรุปว่า มวยไทยปัจจุบันไม่ใช่มวยไทยเดิม แต่เป็น “มวยไทยสากล“
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น