การเดินทางที่แสนจะฮาร์ดคอร์ของ เจิ้งเหอ

การเดินทางที่แสนจะฮาร์ดคอร์ของ เจิ้งเหอ

เคนย่าพบโครงกระดูกคนจีนยุคแม่ทัพเจิ้งเหอ
ไชน่าเดลี - นักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกมนุษย์สายเลือดจีนในเคนย่า คาดมาจากยุคเดียวกับแม่ทัพเจิ้ง เหอแห่งกองทัพเรือของราชวงศ์หมิง
พบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีความเกี่ยวพันกับสายเลือดจีน
แชป คูซิมบา ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำการสำรวจ กล่าวว่านับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบวัตถุโบราณลักษณะดังกล่าวในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยการขุดค้นเริ่มต้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555

โครงกระดูกของมนุษย์สามคนมีฟันซี่หน้าที่มีลักษณะเฉพาะของชาวเอเชียตะวันออก และหนึ่งในสามยังสามารถบ่งชี้ได้ว่ามาจากช่วงเวลาเดียวกันกับที่ เจิ้ง เหอ (Zheng He) มหาขันทีผู้ครองตำแหน่งแม่ทัพกองเรือจีน ซึ่งเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันออกในศตวรรษที่ 15

ส่วนโครงกระดูกของมนุษย์อีกสองคนถูกสันนิษฐานว่ามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหลังการเดินเรือของเจิ้ง เหอ โดยคูซิมบาเผยว่า คนเหล่านี้อาจเดินทางสู่แอฟริกาตะวันออกผ่านเส้นทางการค้าบนดินหรือเส้นทางสายไหมทางทะเลก็ได้

ทั้งนี้ เจิ้ง เหอ ถือเป็นนักเดินทาง นักสำรวจ และนักการทูตคนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน โดยเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส แดนมังกร” ที่น่าจะเดินทางไปยังแอฟริกาตะวันออกระหว่างการล่องเรือเจ็ดรอบสู่มหาสมุทรอินเดียระหว่างปี พ.ศ.1948-1976 ในยุคราชวงศ์หมิงและเคยแวะมาอาณาจักรสยามใน รัชศกหย่งเล่อปีที่ ๕ (ค.ศ. ๑๔๐๗/พ.ศ. ๑๙๕๐) บัญชาการกองเรือไปยัง เจ่าวา (ชวา) กู๋หลี่ (คาลิคัต) เคอจือ (โกชิ) เซียนหลัว (สยาม) และประเทศอื่นๆ กษัตริย์ (ของประเทศเหล่านี้) ต่างถวายทรัพย์สมบัติของมีค่า วิหคหายาก สัตว์แปลกประหลาดเป็นเครื่องราชบรรณาการ เมื่อถึงปีที่ ๗ (ค.ศ. ๑๔๐๙/๑๙๕๒) ได้เดินทางกลับมา” จากบันทึกของจิ้งเหอ บันทึกหมิงสือลู่ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1407 (พ.ศ. 1950) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง พระองค์ได้มีศุภสารไปถึงเจาลู่ฉินอิงตัวหลัวตีล่า (เจ้านครอินทร์, สมเด็จพระอินทราชา, สมเด็จพระนครินทราธิราช) มีความว่า
“จัมปา สมุทระ มะละกา แลท่านต่างได้รับพระราชบัญชาของต้าหมิงหวางตี้ทัดเทียมเสมอกัน เหตุใดท่านจึงได้ใช้กำลังกักตัวราชทูตที่จะไปยังราชสำนักแลยึดเอาตราประทับต่างๆ ไป วิถีแห่งสวรรค์อันแจ่มแจ้งแล้วคือความรุ่งโรจน์ของผู้กระทำดีแลความหายนะของผู้กระทำความชั่วร้าย พวกโจรตระกูลหลี่แห่งอันหนาน ทั้งพ่อแลลูกได้ประสบความหายนะมาก่อนหน้านี้ ท่านอาจดูเป็นตัวอย่างได้เลย ขอจงรีบส่งตัวราชทูตจัมปาคืนไป แลส่งตราประทับแลคำหับที่ราชสำนักมอบให้แก่มะละกาแลสมุทระ ต่อแต่นี้ไป ขอให้ท่านจงใส่ใจในบ้านเมืองท่านเองแลยึดถือความถูกต้องเหมาะสม อยู่อย่างสงบสุขกับเพื่อนบ้านของท่าน แลปกป้องดินแดนของตนเอง โดยวิถีทางนี้ ท่านจักได้สันติสุขอันใหญ่หลวง” (หมิงสือลู่-ชิงสือลู่ บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงฯ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2559. น.127-128.)
เห็นไว้ว่า การกระทำของฝ่ายจีนแสดงถึงความเป็นเจ้าอธิราชเหนือรัฐบรรณาการทั้งหลาย และพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างรัฐบรรณาการ ที่จีนมองเห็นว่ามีสถานะเท่าเทียมกัน ในขณะที่ฝ่ายเจ้านครอินทร์พยายามแผ่อิทธิพลเหนืออาณาจักรอื่นๆ ในแถบอ่าวไทยและคาบสมุทรมลายู
ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร หัวหน้าคณะค้นคว้าเรื่องหมิงสือลู่–ชิงสือลู่ฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การยึดตราของราชทูตจากสมุทระและมะละกาเป็นการตอบโต้ที่กษัตริย์มะละกาได้สังหารข้าหลวงสยามที่ตูมาลิก หรือสิงคปุระในปี ค.ศ. 1401 (พ.ศ. 1944) และความที่สมุทระเป็นพันธมิตรกับมะละกาจึงได้รับผลกระทบไปด้วย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1408 ตามบันทึกของหมิงสือลู่ คณะทูตของเจ้านครอินทร์ก็ได้เดินทางมาถึงราชสำนักหมิงเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ และแสดงการยอมรับผิดที่ได้กระทำตามคำตำหนิอย่างรุนแรงตามระบุในพระราชโองการ

ในสมุทรยาตรา 7 ครั้ง สมุทรยาตราครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.1950-1952 มีบันทึกว่า กองเรือเจิ้งเหอ จอดแวะพักอาณาจักรจามปา อาณาจักรสยาม (อยุธยา) อาณาจักรมัชฌปาหิตบนเกาะชวา เซมู–ดารา และชายฝั่งด้านเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นจึงเดินเรือต่อไปศรีลังกา

ปี พ.ศ.ที่เจิ้งเหอเยือนอยุธยาครั้งแรก เป็นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ในสมัยราชวงศ์อู่ทอง ช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระรามราชาธิราช มีบันทึกบางฉบับของจีนกล่าวว่า มีทูตจากอยุธยาตามกองเรือเจิ้งเหอไปราชสำนักหมิง ที่นครหนานจิง และติดตามกลับสยามในการสมุทรยาตราครั้งต่อมา แต่ข้อมูลนี้ไม่มีในเอกสารฝ่ายไทย

สมุทรยาตราครั้งที่ 3 ราชสำนักหมิงของจีน ให้ความสำคัญกับการปกครองมะละกาของพระเจ้าปรเมศวร มีบันทึกถึงอำนาจราชวงศ์หมิงที่ให้ความคุ้มครองดินแดนในช่องแคบมะละกา แล้วจึงเคลื่อนกองเรือมาอาณาจักรสยาม

การมาสยามใน พ.ศ.1953 ครั้งนี้ของเจิ้งเหอ ตรงกับเหตุการณ์ผลัดแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้านครอินทร์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยุธยา สืบแทนสมเด็จพระรามราชาธิราช แห่งราชวงศ์อู่ทองทรงพระนาม สมเด็จเจ้าอินทราชา

ปัญหาทางการเมืองและความไม่สงบในอยุธยา ไม่มีบันทึกว่าเจิ้งเหอได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม และหลังสมุทรยาตราครั้งนี้ เจิ้งเหอก็ไม่ได้หวนกลับมาสยามอีก แต่กลับมีตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านเรื่องศาลเจ้าซำปอกง เชื่อมโยงไปถึงตำนานเรื่องศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
ชุมชนชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าขานกันถึงเจิ้งเหอ ซึ่งชาวจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “แต้ฮั้ว” กับการสร้างวัดพนัญเชิง ริมแม่น้ำป่าสัก ตำบลคลองสวนพลู ทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง วัดนี้มีหลักฐานการสร้างก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา
พงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้ครองอโยธยา เป็นผู้สร้าง ตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทาน นามวัดว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง
แต่บันทึกประวัติวัดบอกว่า คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายถึง พระนั่งขัดสมาธิ
พระพุทธรูปใหญ่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง สร้างเมื่อ พ.ศ.1867 ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกง ซึ่งมีความหมายถึงชื่อเจิ้งหอ ซึ่งแปลว่าผู้คุ้มครองทางทะเล
พระ “ซำปอกง” ที่ชาวจีนนับถือปัจจุบันมีสามองค์ องค์แรก ที่วัดพนัญเชิง องค์สอง ที่วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพมหานคร และองค์ที่สาม ที่วัดอุภัยภาติการาม ฉะเชิงเทรา เรื่องน่าแปลกก็คือ ชื่อเรียก “ซำปอกง” ถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อพระพุทธรูป

ประติมากรรมรูปปั้นเจิ้งเหอ พบในศาลเจ้า ในวัดวาอารามในประเทศจีน และประเทศอื่นๆแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย แต่ในประเทศไทยแห่งเดียว มีซำปอกงเป็นพระพุทธรูป

การอ้างอิงตำนานพื้นเมือง ไม่ใช่ข้อสรุปเชิงวิชาการ แต่อาจเป็นเบาะแสให้เค้าลางบางอย่าง ทำให้สามารถติดตามสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงได้ในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นตำนานพื้นบ้านการสร้างศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในวัดพนัญเชิง

ภายในศาลเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายสตรีจีนโบราณ ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกจูแซเนี้ย จีนกลางเรียกจู้เซิงเหนียง เทพเจ้าสตรีที่คอยปกป้องคุ้มครองหญิงมีครรภ์ การคลอดบุตร การประทานบุตร การขอคู่ครอง และการสมรส นับถือกันแพร่หลายในแถบมณฑลฝูเจี้ยน ไต้หวัน และในชุมชนจีนโพ้นทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตำนานเล่าเรื่องพระนางสร้อยดอกหมากว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งเกิดอยู่ในจั่นหมาก พระเจ้ากรุงจีนเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อเติบโตรูปโฉมงดงาม ขณะเจ้าชายสายน้ำผึ้งจากอยุธยาเสด็จไปกรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนจัดอภิเษกสมรสให้

เจ้าชายสายน้ำผึ้งเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาก่อน ขบวนเรือสำเภาพระนางสร้อยดอกหมากตามมาทีหลัง เมื่อเรือเทียบท่ากรุงศรีอยุธยา เจ้าชายสายน้ำผึ้งมารับช้า เมื่อถูกตัดพ้อเจ้าชายสัพยอกว่า เมื่อไม่อยากขึ้นจากเรือก็จงอยู่ที่นี่เถิด พระนางก็กลั้นใจตาย

พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสียพระทัยมาก เชิญศพพระนางขึ้นพระราชทานเพลิง และทรงสร้างวัดเป็นอนุสรณ์พระนางสร้อยดอกหมาก ตั้งชื่อวัดว่า วัดพระนางเชิญ

เรื่องจริง...ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ปีที่เจิ้งเหอนำกองเรือมากรุงศรีอยุธยา อยู่ระหว่างปี พ.ศ.1952-1967 ที่สมเด็จพระอินทราชา หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทรงครองราชย์

และตามประวัติ เจ้านครอินทร์ ที่กล่าวขานกันนั้น ก็เล่ากันว่าเคยเสด็จไปกรุงจีน จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า...พระเจ้าสายน้ำผึ้ง คือเจ้านครอินทร์ หรือสมเด็จพระอินทราชา ...หรือไม่
ตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมากบังเอิญสอดคล้องกับตำนานของชาวมะละกา ที่เล่าถึง เจ้าหญิงฮัง ลี โปห์ ซึ่งเดินทางมากับกองเรือเจิ้งเหอ และได้อภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งมะละกา
แม้เรื่องนี้ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน แต่การอภิเษกสมรสก็ถูกใช้เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างอาณาจักรจีนกับต่างแดนมาหลายยุคหลายสมัย.
อ้างอิงจากการประชุมว่าด้วย “ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแอฟริกาตะวันออกในยุคโบราณและยุคร่วมสมัย” ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่เกาะมันดะ เมืองลามูทางตอนเหนือของเคนย่า เมื่อวันศุกร์ (28 ก.ค.) ที่ผ่านมา นักโบราณคดีจีน สหรัฐฯ และเคนย่า ได้ร่วมกันประกาศการค้นพบร่วมกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ไขมันทรานส์คืออะไร

เคบับ คืออะไร

"ตราครุฑ" ความหมายของตราแผ่นดินของไทย ทั้ง 2 แบบ