การทำประมงที่ปลอดภัยกว่า
ชาวมาดากัสการ์ จำนวนมากมายยังต้องพึ่งพามหาสมุทรเพื่อความอยู่รอดของชีวิต เกาะขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกแห่งนี้มีแนวชายฝั่งยาวถึง 5,000 กิโลเมตร
เนื่องจากปริมาณปลาทั่วโลกถูกคุกคามอย่างทวีคูณจนปริมาณลดฮวบ ผู้คนในมาดากัสการ์ตอนใต้จึงบุกเบิกทางเลือกการทำประมงที่ปลอดภัยกว่า เพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
“ผมเคยไปตกปลากับพ่อเมื่อยังเด็ก ตอนนั้นยังมีปลาเหลือเฟือ” นายคลิน รัตซิมบาซาฟี ผู้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับรากหญ้าเพื่อหยุดการทำประมงเกินขนาดกล่าว
“แต่นั่นเปลี่ยนไปแล้วและเราไม่มีปลาเหลือเลย จนกระทั่งเราได้เรียนรู้วิธีอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล” นายรัตซิมบาซาฟีกล่าวขณะซ่อมแหตกปลาในช่วงบ่ายคล้อยที่หมู่บ้านอันดาวาโดกา บนชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์
มีการจัดตั้งพื้นที่ทางทะเลที่จัดการโดยท้องถิ่นแห่งแรกของมาดากัสการ์ขึ้นใน พ.ศ. 2549 โดยมีชื่อว่า เวลอนดริอาค ซึ่งหมายถึงการอาศัยอยู่ร่วมกับมหาสมุทร โครงการดังกล่าวเติบโตและกระจายออกไปมากกว่า 100 แห่งบนเกาะมาดากัสการ์ รวมถึงเกาะที่ห่างไกลออกไปอย่างฟิจิและคอสตาริกา
ผู้มาเยือนมากมายเดินทางมาจากเม็กซิโกเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ปลาหมึกของเวลอนดริอาค ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดไม่ให้ทำการประมงเพื่อให้ปลาหมึกโตเต็มที่ เพิ่มจำนวนที่ขาดหายไป และเพิ่มปริมาณการจับสูงสุด
“เมื่อเราเล่าเกี่ยวกับการสูญเสียทรัพยากรให้ฟังว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อชาวประมงอย่างไร พวกเขาก็ตระหนักได้ว่าการปกป้องทรัพยากรที่ใช้อยู่ทุกวันสำคัญเพียงใด” นายริชาร์ด บาโดเรลี ประธานของเวลอนดริอาคกล่าว
ขณะนี้ชุมชนได้ทำการจัดการชายฝั่งของมาลากาซีคิดเป็นร้อยละ 11 โดยทำงานร่วมกับรัฐบาล โดยมักจะใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมตามประเพณีที่รู้จักกันในชื่อ ดีน่า ตามข้อมูลของบลูเวนเจอร์ส ซึ่งเป็นกลุ่มการอนุรักษ์ของสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนโครงการดังกล่าว
เวลอนดริอาค เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่จัดการโดยท้องถิ่นซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรอินเดีย ครอบคลุมพื้นที่ 640 ตารางกิโลเมตร
นายบาโดเรลีหวังว่าชุมชนอื่น ๆ จะนำแนวทางการอนุรักษ์ระดับรากหญ้าไปปรับใช้ก่อนที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์จะสูญพันธุ์ไปจนหมด “ความหวังของผมในอนาคตคือทุกชุมชนจะพอใจกับผลผลิตจากทะเล และทุกอย่างจะเติบโต” รอยเตอร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น